Wednesday, December 25, 2019

ผิดสัญญาจ้าง เรียกค่าเสียหาย


   โจทก์กล่าวในคำฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยอันเป็นการผิดสัญญาจ้างทำของ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหลายรายการ แต่โจทก์คิดเพียง400,000 บาท โดยแนบภาพถ่ายทาวน์เฮาส์ เครื่องโม่ปูนวัสดุก่อสร้างที่เหลือ บ้านพักคนงาน รวมทั้งสิ่งก่อสร้างตามโครงการก่อสร้างของจำเลยที่ถนนเทพารักษ์มาท้ายฟ้องด้วยแม้มิได้บรรยายว่าโจทก์เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใด ทำงานเสร็จไปถึงงวดที่เท่าใดวัสดุก่อสร้างที่เหลืออยู่ จำนวนและราคาเท่าใดและการว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างที่เทพารักษ์ มีหลักฐานอย่างใด ก็ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ใช่สภาพแห่งข้อหา ไม่จำต้องกล่าวในฟ้องทั้งเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ จำเลยต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้วคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม   กรณีเพิ่งเริ่มงานตามสัญญา จำเลยก็ไม่ประสงค์ให้โจทก์ทำการก่อสร้าง เหตุบอกเลิกสัญญา ก็อ้างเหตุโจทก์ทิ้งงานเท่านั้น ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จ และโจทก์เองมิได้ทอดทิ้งงาน ส่วนเรื่องโจทก์ก่อสร้างผิดแบบผิดหลักวิชาการก็รับฟังไม่ได้ ดังนี้เมื่อ สัญญาจ้างยังไม่ถึงกำหนด และจำเลยผู้ว่าจ้างเห็นว่าหากให้ โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไปจะเกิดความเสียหายเพราะงานล่าช้างานจำเลยจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387แต่จำเลยก็มิได้ทำเช่นนั้น จึงบอกเลิกสัญญาโดยเหตุดังกล่าวไม่ได้ การที่โจทก์ขอทำการก่อสร้างต่อไปและจำเลยไม่ยอมโดยว่าจ้างผู้อื่นก่อสร้างต่อไปและให้เลิกสัญญา จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้ แต่เป็นเรื่องจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ และต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง   กรณีจ้างทำของเมื่อจำเลยผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาเองโดยโจทก์ผู้รับจ้างไม่ได้ทำผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 605   ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยต้องรื้อถอนซ่อมแซมและเสียค่าก่อสร้างบ้านจนแล้วเสร็จ เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้   โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การและฟ้องแย้ง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งแล้ว ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้องโดยมิได้พิพากษายกฟ้องแย้งด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสีย ให้ถูกต้อง
ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยระงับการก่อสร้างตึกพิพาทไว้ก่อนจนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุด
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระหนี้ 224,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 302,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน252,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าเมื่อเดือนเมษายน 2532 จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ก่อสร้างบ้านแบบทาวน์เฮาส์ตามแบบแปลนจำนวน 2 หลัง ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2532 ในราคารวมทั้งค่าแรงและค่าวัสดุเป็นเงิน 536,000 บาท กำหนดจ่ายเงินค่าจ้างเป็น 4 งวดตามผลงาน โจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างไปจนถึงงวดที่ 2ยังไม่แล้วเสร็จ โดยได้รับเงินค่าจ้างเพียง 50,000 บาทวันที่ 5 มิถุนายน 2532 จำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์และให้นายสุรวิชญ์ วงศ์พรหม เข้าไปดำเนินการก่อสร้างต่อจากโจทก์ ขณะนั้นโจทก์ยังมีเรือนพักคนงานชั่วคราว เครื่องโม่ปูน1 เครื่อง กับวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐ หิน ทราย ไม้แบบ และเหล็กเส้น อยู่ในบริเวณงานก่อสร้างของจำเลย
ปัญหาข้อแรกที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้นเห็นว่าโจทก์กล่าวในคำฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยอันเป็นการผิดสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหลายรายการแต่โจทก์คิดเพียง 400,000 บาท โดยแนบภาพถ่ายทาวน์เฮาส์ เครื่องโม่ปูน วัสดุก่อสร้างที่เหลือบ้านพักคนงานรวมทั้งสิ่งก่อสร้างตามโครงการก่อสร้างของจำเลยที่ถนนเทพารักษ์มาท้ายฟ้องด้วย แม้มิได้บรรยายว่า โจทก์เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใด ทำงานเสร็จไปถึงงวดที่เท่าใดวัสดุก่อสร้างที่เหลืออยู่จำนวนและราคาเท่าใดและการว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างที่เทพารักษ์มีหลักฐานอย่างใด ก็ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมเพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ใช่สภาพแห่งข้อหา ไม่จำต้องกล่าวในฟ้อง ทั้งเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้และจำเลยต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อสองที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเห็นว่าจำเลยอ้างว่าโจทก์ละทิ้งงาน จำเลยจึงว่าจ้างนายสุรวิชย์ วงศ์พรหม ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป แต่ได้ความจากคำของนายสุรวิชญ์พยานจำเลยว่าในเดือนเมษายน 2532นั้นเอง จำเลยได้ไปว่าจ้างนายสุรวิชย์ให้ไปทำการก่อสร้างบ้านตัวอย่างที่หมู่บ้านรินรดา แต่นายสุรวิชญ์เห็นว่ามีผู้รับเหมาเดิมทำงานอยู่ จึงไม่รับจ้าง แสดงว่าทั้ง ๆ ที่เพิ่งเริ่มงานตามสัญญา จำเลยก็ไม่ประสงค์ให้โจทก์ทำการก่อสร้างเหตุบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย ล.5 ก็อ้างเหตุโจทก์ทิ้งงานเท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้ความชัดว่า ยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จ และโจทก์เองก็ได้นำสืบว่าได้ก่อสร้างบ้านให้จำเลยโดยมีช่างทำงานอยู่ตลอดมา มิได้ทอดทิ้งงานจึงไม่พอรับฟังว่าโจทก์ทอดทิ้งงาน ส่วนเรื่องโจทก์ก่อสร้างผิดแบบผิดหลักวิชาการเช่นผสมปูนเหลวเกินไป ตั้งเสา ตั้งกำแพงตั้งวงกบเอียง ก็ปรากฏว่าจำเลยไม่เคยท้วงติงหรือโต้แย้งมาก่อนทั้งจำเลยก็ยอมรับว่าได้จ่ายเงินค่าจ้างงวดแรกให้โจทก์แล้วจึงรับฟังไม่ได้เช่นกัน เมื่อสัญญาจ้างยังไม่ถึงกำหนด และจำเลยเห็นว่าหากให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไปจะเกิดความเสียหายเพราะงานล่าช้ามาก จำเลยจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 387 แต่จำเลยก็มิได้ทำเช่นนั้น จึงบอกเลิกสัญญาโดยเหตุดังกล่าวไม่ได้ การที่โจทก์ขอทำการก่อสร้างต่อไปและจำเลยไม่ยอมโดยจำเลยว่าจ้างนายสุรวิชญ์ก่อสร้างต่อไป และให้เลิกสัญญาตามเอกสารหมาย ล.5 จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้แต่เป็นเรื่องจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ และต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง และที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์สร้างสำนักงานชั่วคราวและวางผังสร้างตึกแถวที่ถนนเทพารักษ์โจทก์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างจากบริษัทรินรดา จำกัด ซึ่งมีนายไพโรจน์ ลิมป์ทองทิพย์ เป็นกรรมการผู้เดียว ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยผิดสัญญาในการก่อสร้างตึกแถวที่ถนนเทพารักษ์ด้วย
ปัญหาที่จำเลยฎีกาเรื่องค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องจ้างทำของและจำเลยผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาเอง โดยโจทก์ผู้รับจ้างไม่ได้ทำผิดสัญญาตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วจำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 กล่าวคือ ค่าก่อสร้างงวดที่ 2 จำนวน160,000 บาท ที่โจทก์ยังทำไม่เสร็จบริบูรณ์ โดยเทพื้นชั้นสองไม่ครบ ขึ้นโครงหลังคาไม่ครบ และยังไม่ได้มุงกระเบื้องหลังคาซึ่งศาลอุทธรณ์กำหนดไว้เป็นเงิน 80,000 บาท ค่าวัสดุก่อสร้างมีอิฐมอญ 1 กอง หิน ทราย ไม้แบบ และเหล็กเส้นจำนวน 120,000 บาทเครื่องโม่ปูน จำนวน 12,000 บาท ค่าบ้านพักคนงานจำนวน20,000 บาท กับค่าก่อสร้างที่ถนนเทพารักษ์ จำนวน 20,000 บาทรวมเป็นเงิน 252,000 บาท เป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยต้องรื้อถอนซ่อมแซมและเสียค่าก่อสร้างบ้านจนแล้วเสร็จ เมื่อหักค่าก่อสร้างและทรัพย์สินของโจทก์แล้วจำนวน 121,835 บาท กับค่าปรับที่จำเลยต้องก่อสร้างล่าช้าไปอีก67 วัน เป็นเงิน 100,500 บาท นั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ทักท้วงหรือโต้แย้งให้โจทก์แก้ไขมาก่อน เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว แต่ที่ศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษายกฟ้องแย้งด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ฎีกาที่ 5302/2538

Monday, December 23, 2019

อำนาจปกครองบุตร ไม่จำเป็นต้องหย่าก่อน


อำนาจปกครองบุตร ไม่จำเป็นต้องหย่าก่อน

โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองฝ่ายเดียว จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โจทก์ไม่อาจฟ้องหย่าได้ จำเลยยังประสงค์อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ และแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องแย้งว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดกัน ขอให้บุตรทั้งสองอยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของจำเลย ให้จำเลยมีอำนาจปกครอง ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามฟ้องแย้งจำเลยว่า ไม่ประสงค์หย่ากับโจทก์และยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะบิดามารดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ และปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดกันแล้วหรือไม่ กรณีมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์หรือจำเลยตามมาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันหรือไม่เช่นเดียวกันแม้ศาลจะมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวได้ หาใช่ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ขอให้โจทก์ปฏิบัติตามฟ้องแย้งได้

ที่มา:  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10769/2558



Counter Widget