โดย
บันจงสัณห์ วิญญรัตน์
1. ที่มาและสภาพของปัญหา
การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม และวัฒนธรรมนาๆ นัปการ เช่น ปัญหายาเสพติดให้โทษ, ปัญหาการว่างงาน, ปัญหาโสเภณี, ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาการละเลยทอดทิ้งวัฒนธรรม และค่านิยมที่ดีงามของไทย ประชาชนส่วนน้อย ได้รับประโยชน์ จากการพัฒนาของประเทศ มีช่องว่างระหว่างชนบทและเมือง แม้ว่ารัฐบาลจะได้พยายามแก้ไข แต่ปัญหาเหล่านี้ยังดำรงอยู่ และยิ่งดูจะทวีความรุนแรง และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ความจำเป็นที่รัฐต้องทบทวนยุทธศาสตร์ การพัฒนา และแสวงหาทางเลือกที่เหมาะสม กับสภาวะของสังคมไทย และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการพัฒนามากยิ่งขึ้น
การที่มหาวิทยาลัยต่างๆได้ผลิตบุคลากรจำนวนหนึ่ง ออกไปรับใช้สังคม จึงเป็นการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อสังคม เพื่อไปปฏิบัติในสาขาต่างๆ ตามที่ตนถนัด และที่ได้ศึกษามา การพัฒนาสาขาวิชา จึงมีความสำคัญผลโดยตรง ต่อการวิวัฒนาการ ในแต่ละสาขาวิชานั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของประเทศ ให้สอดคล้องหรือเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละยุคแต่ละสมัย โดยที่ในแต่ละสาขาวิชา เช่นสาขาวิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ จำต้องมีการพิจารณาสถานภาพ และทิศทาง ว่าเป็นอยู่อย่างไรในสภาวะสังคมไทยในปัจจุบัน เนื่องจากแต่ละสาขาวิชาได้รับอิทธิพลความคิดทางทฤษฎีมาจากประเทศตะวันตกส่วนหนึ่ง ซึ่งหากนำเอาความรู้ที่ได้รับอิทธิพลเหล่านี้มาใช้ในประเทศ จะเป็นการเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยหรือไม่ สมควรต้องมีการปรับปรุง นำสิ่งที่ควร สิ่งที่ดี เข้ามาใช้ให้เหมาะสมกับประเทศในปัจจุบัน[1]
หลักสูตรวิชานิติศาสตร์ ในประเทศไทย ได้ดำเนินการเรียนการสอนมาเป็นเวลานาน มีวิวัฒนาการเป็นของตนเอง มีลักษณะเฉพาะตัว และมีความสัมพันธ์กับศาสตร์สาขาอื่น เนื่องจากศาสตร์สาขาอื่นๆ เป็นที่มาและบ่อเกิดของกฎหมายไม่มากก็น้อย ดังนั้น ตามหลักสูตรที่ได้เปิดสอน ผลิตบัณฑิต อันเป็นทรัพยากรมนุษย์ ออกไปรับใช้ประเทศชาตินั้น มีความเหมาะสมในด้านให้ความสัมพันธ์ หรือเข้าใจกันกับศาสตร์สาขาอื่นหรือไม่อย่างไร มีวิวัฒนาการ ความเป็นมาอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อจะได้บัณฑิต ที่มีคุณค่า เข้าใจในวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ สังคมส่วนรวม นอกจากจะเข้าใจเพียงตัวบทกฎหมาย ซึ่งเป็นเพียงตัวอักษรในตำราเท่านั้น เพียงเพื่อนำไปประกอบวิชาชีพ หาเลี้ยงตนเองหรือเพียงเพื่อประโยชน์ปัจเจกชน ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติที่แท้จริง มิใช่ทำตัวโดดเดี่ยวไม่สนใจในความสัมพันธ์ปรัชญาของศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ซึ่งนิติศาสตร์เป็นเพียงหรือในอดีตเคยเป็นสาขาย่อยหรือหนึ่งในสาขาสังคมศาสตร์นั้นเท่านั้น.
[1] เสน่ห์ จามริก และคณะ, พัฒนาการทางรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์กับสังคมไทย (กรุงเทพ: โรงพิมพ์มิตรนราการพิมพ์, พ.ศ.2529), หน้า 17-18.
No comments:
Post a Comment