Friday, December 28, 2012

พระราชบัญญัติ ควบคุมและจัดการกิจการหรือทรัพย์สินของคนต่างด้าว บางจำพวกในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2484(ตอน3)

(ต่อ)(ตอนสาม)


ความเป็นมาของหลักการควบคุม และจัดการ
กิจการหรือทรัพย์สินของคนต่างด้าว และการก่อการร้ายในประเทศไทย

1.   ความหมายของคนต่างด้าว

คนต่างด้าวตามความหมายของพจนานุกรมไทย ได้แยกการให้คำจำกัดไว้ โดยให้ความหมายของคำว่า คน ซึ่งเป็นคำนาม หมายความว่า มนุษย์[1] และคำว่า ต่างด้าว ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ หมายความว่า ชาวต่างประเทศที่มีถิ่นฐานอยู่อีกประเทศหนึ่ง[2]  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คนต่างด้าว ก็คือ คนต่างประเทศไม่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย ตามความหมายของพจนานุกรมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ความหมายดังกล่าวข้างต้น ก็ยังไม่ได้ให้ความกระจ่างชัด ในคำจำกัดความทางด้านกฎหมายแต่อย่างใด หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นเพียงความหมายที่ใช้พูด เจรจา ทั่วๆไปในสังคมเท่านั้น ดังนั้น คนต่างด้าว ในความหมายทางนิติศาสตร์* จึงต้องไปดูที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนต่างด้าว (ซึ่งรายละเอียด ผู้เขียนได้รวบรวมไว้ในบทที่ 3) กล่าวคือ.-
ความหมายของ คนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 ได้ให้นิยาม คำว่า คนต่างด้าว หมายความว่า คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ[1] ตามกฎหมายฉบับนี้ ก็ให้ความหมายถึงคนต่างด้าวเฉพาะคนหรือบุคคลธรรมดาเท่านั้น ทั้งยังได้อ้างถึงกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ จึงต้องไปดูว่า ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาตินั้นได้ให้ความหมายของคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ว่าอย่างไรหรืออีกนัยหนึ่งได้ให้ความหมายของคนต่างด้าวไว้ว่าอย่างไร
ความหมายของ คนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ได้ให้นิยามคำว่า คนต่างด้าว หมายความว่า ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย[2] และบทบัญญัติต่างๆในมาตรานี้ ก็เกี่ยวข้องกับการได้สัญชาติไทย การเสียสัญชาติไทย การแปลงสัญชาติไทย การถอนสัญชาติไทย เป็นต้น ไม่ได้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความเป็นนิติบุคคลของคนต่างด้าว แต่อย่างใด กล่าวคือ ให้ความหมายแต่เพียง บุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่ได้รวมไปถึงนิติบุคคล, องค์การต่างๆ หรือแม้กระทั่งคณะบุคคล
ความหมายของ คนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ได้ให้นิยามคำว่า คนต่างด้าว หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย[3]
ความหมายของ คนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า คนต่างด้าว หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย [4] ซึ่งก็ไม่รวมถึงนิติบุคคล หรือองค์การต่างๆ ที่ไม่มีสัญชาติไว้ด้วย
ความหมายของ คนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ก็ได้ให้คำจำกัดความ ความหมายของคำว่า คนต่างด้าว ไว้หมายความถึง
1)   บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
2) นิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย
3)   นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย และมีลักษณะดังต่อไปนี้(ก) นิติบุคคลซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลตาม (1) หรือ (2) หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลตาม (1) หรือ (2) ลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น
      (ข)    ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียน ซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นบุคคลตาม (1)
4)   นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลตาม (1)(2) หรือ (3) หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลตาม (1)(2) หรือ (3) ลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น[1]
      ความหมายของ คนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.2499  ก็ได้ให้คำจำกัดความ ความหมายของคำว่า คนต่างด้าว ไว้หมายความว่า ผู้ที่มิได้มีสัญชาติไทย[2]
      ความหมายของ คนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติควบคุมและจัดการ กิจการหรือทรัพย์สินคนต่างด้าว บางจำพวก ในภาวะคับขัน พ.ศ.2484 ที่ผู้เขียนได้ให้ความสนใจในการศึกษาเป็นกฎหมายหลักของการศึกษาอิสระฉบับนี้ ถึงแม้จะไม่ได้บัญญัติคำนิยามคำว่า คนต่างด้าว ไว้เฉพาะก็ตาม แต่ในบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็ได้ให้คำขยายความของคำว่า คนต่างด้าว ไว้ว่า คนต่างด้าวนั้น นอกจากบุคคลธรรมดา ให้หมายความรวม ตลอดถึง มูลนิธิ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนและมิได้จดทะเบียน และองค์การรูปอื่นใด แม้จะมิได้เป็นนิติบุคคล หรือเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย  แต่ได้กระทำการ เพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าวนั้น[3]



[1] พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542, มาตรา 4.
[2] พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.2499, มาตรา 4.
[3] พระราชบัญญัติควบคุมและจัดการ กิจการหรือทรัพย์สินคนต่างด้าว บางจำพวก ในภาวะคับขัน พ.ศ.2484, มาตรา 6 วรรคสอง.



[1] พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493, มาตรา 4.
[2] พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508, มาตรา 4.
[3] พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522, มาตรา 4.
[4] พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521, มาตรา 5.



[1]สุวิทย์ หิรัณยกาณท์, พจนานุกรมไทย, 2547, ภายใต้คำ คน.
[2]เรื่องเดียวกัน, ภายใต้คำ ต่างด้าว.
*เป็นที่สังเกต ว่ารัฐธรรมนูญไทย 2540 ฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นกฎหมายแม่บท ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคนต่างด้าวไว้แต่อย่างใด. 
Home Remedies For Wrinkles

No comments:

Post a Comment