Sunday, October 10, 2010

การน้อมนำกระแสพระราชดำรัสว่าด้วย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในสาขานิติศาสตร์

การน้อมนำกระแสพระราชดำรัสว่าด้วย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในสาขานิติศาสตร์
โดย ว่าที่ร.ต.บันจงสัณห์ วิญญรัตน์, น.บ., น.ม., Ph.D.(Candidate Batch 6, RU.,BKK), M.B.A.(U.S.A.)

1. ที่มาและสภาพของปัญหา

เศรษฐกิจแบบค้าขายแต่อย่างเดียวนั้น ไม่สามารถทำให้คนไทยพึ่งตนเองได้ อาจกลับทำให้ต้องประสบกับความเดือดร้อน ดังนั้น การมีระบบเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตแบบพอเพียง จึงเป็นหนทางสำคัญ ที่จะแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนนี้ได้[1]

ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหานาๆนัปการ ไม่ว่าปัญหาทางด้านสังคม ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาทางด้านการเมือง เช่นการก่ออาชญากรรม, การฉ้อราษฎรบังหลวง, การคอร์รัปชั่น, การเอารัดเอาเปรียบทางด้านเศรษฐกิจ, การโฆษณาเกินจริง เป็นต้น ล้วนมีที่มาจากการไม่ลดละในกิเลสของผู้ร่วมก่อให้เกิดปัญหาต่างๆนั้นทั้งสิ้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่สังคมส่วนรวม และสุดท้ายก็ต้องย้อนกลับมากระทบกับตนเอง ไม่ทางตรง โดยการถูกลงโทษจำคุก ปรับ กักขัง ตามกฎหมาย หรือหากไม่ได้รับโทษทางกฎหมาย ก็ต้องได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น บ้านเมือง ตนเองจึงไม่ปลอดภัย มีแต่อาชญากรรม, สินค้าแพง, คุณภาพชีวิตตกต่ำเนื่องจากสภาพแวดล้อม ควัน ฝุ่น น้ำเน่า เป็นต้น ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ความเครียด ความไม่สงบสุขไปทั่วทั้งแผ่นดิน

ผู้นำประเทศฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน และออกกฎหมาย ตลอดจนอำนาจการบังคับใช้กฎหมายในเบื้องต้น ซึ่งได้แก่ตำรวจ อัยการ และฝ่ายปกครอง ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา ก็เป็นนักการเมืองอาชีพ จริยธรรมไม่ต้องถามหา ความพอเพียงมีหรือไม่ ก็เป็นที่ทราบกันดี ทางข่าวหนังสือพิมพ์ และบัญชีทรัพย์สินที่ต้องชี้แจง การบริหารเศรษฐกิจ มุ่งแต่การค้าขาย เพื่อเป้าหมายเพียงอย่างเดียว คือผลประโยชน์จากกำไร ที่ได้จากการลงทุน หรือทุนนิยม ไม่มีคำว่าพอเพียง ยิ่งกำไร ยิ่งรวย เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เพราะต้องแย่ง ต้องแข่งขันกัน ต้องหาวิธีที่จะเอาเงินหรือผลประโยชน์จากบุคคลอื่น ไม่ว่าจะด้วยการขายสินค้า บริการ หรือการลงทุน กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้โดยนักการเมืองเหล่านี้ จึงเป็นกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ เพื่อกำไร ไม่ว่าจะเพื่อตัวเองหรือเพื่อพวกพ้อง เพื่อจะได้นำไปอ้างได้ว่า “ทำถูกกฎหมาย” ทั้งที่กฎหมายนั้น ก็เป็นเพียงเครื่องมือของผู้ใช้อำนาจ หาได้คำนึงถึงจริยธรรม ความพอเพียงแต่อย่างใด

ด้วยปัญหาต่างๆข้างต้น วิถีหรือปรัชญาพอเพียง เป็นหนทางที่สำคัญ ที่ได้รับการพิสูจน์หลายกรณี เป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดความสุข ความเจริญ แก่ผู้ที่นำมาปฏิบัติ และหากสังคมหรือระดับประเทศนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็จะเกิดความสงบสุข ความเจริญแก่แผ่นดิน ดังคำกล่าวของนักปราชญ์ที่ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ที่รู้หนังสือ ที่ว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบนั้นไม่มี” [2] ดังนั้น กฎหมายในฐานะเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางสังคม เพื่อให้มีการปฏิบัติไปในทางเดียวกัน ในระบบนิติรัฐหรือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย จึงต้องเป็นกฎหมายที่สนับสนุนปรัชญาพอเพียง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บรรลุจุดหมาย สุดท้าย บ้านเมือง ประเทศ สังคม ก็จะมีแต่ความสงบหรือมีความสุขที่แท้จริง

ดังนั้น การที่จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินการให้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปถึงเป้าหมายได้ จึงต้องมีการศึกษาถึง แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, ศึกษาละเอียดถึงตัวบทกฎหมายที่เป็นอยู่ และที่ควรจะเป็น โดยเริ่มตั้งแต่กฎหมายที่มีศักดิ์สูงสุด ที่กฎหมายอื่นจะขัดไม่ได้ ซึ่งได้แก่กฎหมายรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญการปกครอง ไปจนถึงระเบียบคำสั่งของผู้มีอำนาจออกคำสั่งหรือระเบียบเช่นว่านั้น ว่าได้สนับสนุนปรัชญาพอเพียงหรือไม่เพียงใด

แต่ในการศึกษาฉบับนี้ เนื่องจากการจำกัดในด้านเวลา จึงจะกล่าวในเรื่องของกฎหมาย เพียงในแนวที่เป็นการทั่วๆไป เพียงบางตัวอย่าง ในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาบังคับใช้โดยกฎหมาย

2. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานความหมายของความพอเพียงไว้ดังนี้.- “คำว่า พอเพียง มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ ถ้าใครได้มาอยู่ที่นี่ ในศาลานี้ เมื่อเท่าไหร่ 20 24 ปี เมื่อปี 2517 2517 ถึง 2541 นี้ ก็ 24 ปี ใช่ไหม วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั้นเอง ถ้าแต่ละคนพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้น ก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน จึงต้องมีนโยบาย ที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วย ว่าจะแปลเป็น Self –sufficiency (พึ่งตนเอง) ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริง เศรษฐกิจพอเพียงนี้ กว้างขวางกว่า Self-sufficiency คือ Self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง)

บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง คำว่ายืนบนขาตัวเองนี่มีคนบางคนพูดว่าชอบกล ใครจะมายืนบนขา คนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเองยืนบนขาตัวเอง ก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลง อันนี้ก็เป็นความคิดที่อาจจะเฟื่องไปหน่อย แต่ว่า เป็นตามที่เขาเรียกว่า ยืนบนขาของตัวเอง (ซึ่งแปลว่าพึ่งตนเอง) หมายความว่า สองขาของเรานี่ ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน แต่พอเพียงนี้ มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอ ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด – อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ – มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง” [3]

3. มาตรการทางกฎหมายสนับสนุนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

กฎหมายในประเทศไทย ที่สนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง มีทั้งในรูปของสาระบัญญัติหรือเนื้อหา และวิธีสบัญญัติหรือวิธีการนำเนื้อหากฎหมายหรือตัวบทนั้นมาบังคับใช้ในทางปฏิบัติ หรือแนวปฏิบัติของผู้มีอำนาจใช้กฎหมายนั้น
ดังนั้น การน้อมนำแนวคิดของปรัชญาพอเพียงมาใช้กับกฎหมายต่างๆ อย่างแรกเริ่มต้น ต้องวิเคราะห์กฎหมายต่างๆ รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติ แยกแยะว่า กฎหมายพอเพียงหรือยัง กับบ้านเมืองเรา และมีกฎหมายให้อำนาจพอเพียงหรือมากเกินไปแก่ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือไม่อย่างไร อำนาจหน้าที่สนับสนุนปรัชญาพอเพียง
การแบ่งแยกกฎหมาย ออกเป็นอีกประเภทหนึ่งต่างหาก เป็นนิติศาสตร์ปรัชญาพอเพียง โดยการนำตัวบทต่างๆในแต่ละกฎหมายที่มีอยู่ และที่ควรจะมี อันเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ออกมาวิเคราะห์ สังเคราะห์บังคับใช้ใหม่
ตัวอย่างเช่น ตามประมวลกฎหมายอาญา การแบ่งประเภทความผิดฐานลักทรัพย์ออกเป็น ประเภทต่างๆ จากเดิม ที่บัญญัติว่า “... ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ต้องระวางโทษ....” ซึ่งมีเพียงประเภทเดียว นำมาแก้ไข แยกแยะ แบ่งประเภทให้เข้ากับปรัชญาพอเพียง โดยต้องวิเคราะห์ว่า การเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือลักทรัพย์นั้น หากเป็นการลักทรัพย์เพียงราคาหนึ่งบาท จะต้องรับโทษ หรือต้องระวางโทษเท่ากับผู้ที่ลักทรัพย์ที่มีจำนวนหนึ่งล้านบาท ซึ่งเป็นการไม่พอเพียง หรือไม่เป็นธรรมเป็นต้น ในทางปฏิบัติปัจจุบันนั้น ต้องพึ่งการใช้ดุลพินิจของศาลในการกำหนดโทษ หากมีการกระทำความผิดจริง โดยอาจลงโทษมาก น้อย แล้วแต่พฤติการณ์ความผิด ในกรณีนี้ ศาลอาจลงโทษจำเลยที่ลักทรัพย์หนึ่งบาท 1 เดือน โดยรอการลงโทษ และลงโทษจำเลยผู้ลักทรัพย์หนึ่งล้านบาท 3 ปี โดยไม่รอการลงโทษ เป็นต้น
หรือตัวอย่างอื่นๆ[4] เช่น การที่กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจหน้าที่ ตามแต่ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น จะเห็นสมควร ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการแก้ไขกฎหมายที่ควรจะเป็นว่า กำหนดอำนาจหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นอำนาจหน้าที่จะต้องทำ ในการดำเนินกิจกรรม เพื่อสนับสนุนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง.

[1] สำนักราชเลขาธิการ, ตามรอยพระราชปณิธานสู่ความพอเพียง, เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการเรื่อง ยุทธศาสตร์การสื่อสารในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 26 กันยายน 2549.
[2] หลวงปู่สิม ฐานะจาโร, สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง หมู่ที่ 5 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่.
[3] สำนักราชเลขาธิการ, ตามรอยพระราชปณิธานสู่ความพอเพียง, เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการเรื่อง ยุทธศาสตร์การสื่อสารในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 26 กันยายน 2549.
[4] ราตรี เจริญยัง, มาตรการในทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนส่วนตำบล, (วิทยานิพนธ์ ปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, พ.ศ.2545), หน้า 103.


Home Remedies For Wrinkles

No comments:

Post a Comment